ด้วยการออกแบบตู้โดยสารด้วยระบบ Space Frame Modular Concept ทำให้ตัวรถเบาลง แคร่รถไฟทำความเร็วได้ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยไม่มีเสียงดังรบกวน จังหวะการวิ่ง การเบรก สมดุลภายใต้มาตรฐานยุโรป เป็นผลผลิตจากโครงการวิจัยพัฒนารถไฟที่ตอบทุกเป้าหมายได้อย่างคุ้มค่าการลงทุน
โครงการ “รถไฟไทยทำ” คือการผลิตตู้โดยสารรถไฟสุดหรูหรา ด้วยชื่อเรียกแสนไพเราะ “สุดขอบฟ้า” หรือ Beyond Horizon เป็นการออกแบบที่ได้แรงบันดาลใจจากเครื่องบินชั้นธุรกิจและชั้นเฟิร์สคลาส ผ่านการวิจัย พัฒนา และ ผลิตโดยคนไทย 100% เป็นรถไฟโดยสารต้นแบบคันแรกของประเทศไทย ในโครงการวิจัย “รถไฟไทยทำ” ตามนโยบายกระทรวงคมนาคม “ไทยเฟิร์ส” และได้รับการสนับสนุนทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) แผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ร่วมกับ กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ ขณะที่หน่วยงานวิจัยคือ ศูนย์วิจัยระบบรางและโครงสร้างพื้นฐาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หลังจากพัฒนาเสร็จแล้วจะส่งรถโดยสารต้นแบบให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยมีเป้าหมายร่วมกันผลักดัน ให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตรถขนส่งทางรางด้วยหลักคิด “การพึ่งพาตนเอง”
หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการผลิตตู้รถไฟโดยสาร “สุดขอบฟ้า” คือการสนับสนุนให้ใช้วัตถุดิบในประเทศไทย โดยมีเป้าหมาย Local Content ตั้งไว้ 40% ตามนโยบายกระทรวงคมนาคม ที่กำหนดว่าต้องไม่น้อยกว่า 40% แต่รถไฟโดยสารสุดขอบฟ้าสามารถทำได้ 44.1% นอกจากนี้ หากพิจารณาเฉพาะตู้รถไฟและส่วนประกอบ ไม่รวมแคร่จะมี Local Content สูงถึง 76% จากชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกว่า 300 ชิ้น ส่วนที่เหลืออีก 56% เป็นชิ้นส่วนที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ไม่มีผู้ประกอบการที่สามารถผลิตได้ในประเทศ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ แคร่รถไฟ ซึ่งต้องเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล ห้องน้ำระบบสุญญากาศ เป็นต้น โครงการนี้สามารถสร้างผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิต Supply Chain ที่มีความพร้อมด้วย R&D + Tech Localization มากกว่า 10 ราย
เบื้องต้นจากการประเมินค่าใช้จ่ายในการพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ พบว่ามีราคาถูกกว่าการนำเข้าไม่น้อยกว่า 30% ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อ รฟท. และประเทศชาติ นอกจากนี้ยังสามารถสร้างทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรจำนวน 7 ผลงานจากเป้าหมาย 2 ผลงาน สามารถขับเคลื่อนความพร้อมของเทคโนโลยีสู่ TRL9 ผ่านการใช้งานและการทดสอบ ตามมาตรฐานระดับสากล
รถไฟไทยทำ “สุดขอบฟ้า” ได้ผ่านการทดสอบด้านมาตรฐานการบริการและความปลอดภัย ด้วยการวิ่งระยะทางไกล “กรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่” เป็นอันดับแรก และจะมีการทดสอบกับหัวรถจักรของ รฟท. อย่างต่อเนื่อง เพื่อดูความสอดคล้องกับตู้ขบวนอื่นที่ รฟท. ใช้อยู่ในปัจจุบัน เมื่อผ่านกระบวนการทดสอบครบทุกขั้นตอนแล้ว จะเข้าสู่ระเบียบการจัดซื้อ-จัดจ้าง เพื่อให้บริการในเชิงพาณิชย์ภายในเร็ววันนี้
ภาพและบทความทั้งหมด โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) แหล่งที่มา https://pmuc.or.th/pmuc-sudkhobfah-train/
ใส่ความเห็น